เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 10. ปฏาจาราเถริยาปทาน
[500] ลำดับนั้น พระศาสดาได้ตรัสกับหม่อมฉันว่า
‘เธออย่าเศร้าโศกถึงบุตรเลย
จงผ่อนคลายบ้างเถิด จงแสวงหาตนเองเถิด
จะเดือดร้อนอย่างไร้ประโยชน์ไปทำไม
[501] บุตร ธิดา ญาติและพวกพ้อง
มีไว้เพื่อต้านทานคนผู้ถึงที่ตายไม่ได้เลย
บรรดาหมู่ญาติ ผู้ที่จะต้านทานได้ก็ไม่มี’
[502] หม่อมฉันได้ฟังพระดำรัสของพระมุนีนั้นแล้ว
ได้บรรลุโสดาปัตติผล
บวชแล้วไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[503] หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุและเจโตปริยญาณ
เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระศาสดา
[504] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว
หม่อมฉันทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไปแล้ว
เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากมลทิน
[505] ครั้งนั้น หม่อมฉันเรียนวินัยทั้งปวง
ในสำนักของพระผู้ทรงรู้เห็นธรรมทั้งปวง
และกล่าวอธิบายพระวินัยทั้งปวงได้อย่างพิสดารตามเป็นจริง
[506] พระชินเจ้าทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น
จึงทรงตั้งหม่อมฉันไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า
‘ปฏาจาราภิกษุณีเพียงผู้เดียวเลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้ทรงวินัย’
[507] พระศาสดาหม่อมฉันก็ปรนนิบัติแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ทำสำเร็จแล้ว
ภาระอันหนักหม่อมฉันก็ปลงลงได้แล้ว
ตัณหาที่นำไปสู่ภพหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :454 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรคนี้
[508] กุลบุตรกุลธิดาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นคือความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง
หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
[509] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[510] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[511] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ปฏาจาราภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปฏาจาราเถริยาปทานที่ 10 จบ
เอกูโปสถิกวรรคที่ 2 จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

1. เอกูโปสถิกาเถริยาปทาน 2. สลฬปุปผิกาเถริยาปทาน
3. โมทกทายิกาเถริยาปทาน 4. เอกาสนทายิกาเถริยาปทาน
5. ปัญจทีปทายิกาเถริยาปทาน 6. นฬมาลิกาเถริยาปทาน
7. มหาปชาบดีโคตมีเถริยาปทาน 8. เขมาเถริยาปทาน
9. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน 10. ปฏาจาราเถริยาปทาน

ในวรรคนี้ บัณฑิตนับจำนวนคาถาได้ 509 คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :455 }